2551/09/11
เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกยังไม่มีความเข้มข้นมากนัก คลื่นความร้อนจึงสะท้อนออกนอกโลกได้มาก
กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้ก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศของโลกมีความเข้มข้นขึ้น คลื่นความร้อนจึงสะสมอยู่บริเวณพื้นผิวโลก
ภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งพูดกันหรือเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ปัญหาโลกร้อนได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว นับแต่ที่มนุษย์เริ่มรู้จักเครื่องจักรไอน้ำและนำเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมัน ขึ้นมาใช้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากโดยน้ำมือของมนุษย์ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้เมื่อราวศตวรรษก่อนกำลังเป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๙๐ Svante Arrhenius นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศกับอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก และพบว่า หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกลดลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกลดลงถึง ๕ องศาเซลเซียส ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซต่างๆ ขึ้นสู่อากาศมากขึ้น Svante ทำนายว่าในอนาคตโลกจะร้อนขึ้น จากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาวะเรือนกระจก ภาวะเรือนกระจก ก็คล้ายกับการที่เราสร้างเรือนกระจกกลางแจ้ง แสงแดดสามารถผ่านเข้ามาในเรือนกระจก แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบายออกข้างนอกได้ ทำให้อุณหภูมิภายในเรือนกระจกสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันโลกสีน้ำเงินใบนี้ ก็ไม่ต่างจากเรือนกระจก โดยปรกติชั้นบรรยากาศของโลกจะประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆ และไอน้ำ เมื่อรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามายังพื้นผิวโลก มันจะถูกดูดกลืนไว้ด้วยพื้นน้ำ พื้นดิน พืช และสัตว์ หลังจากนั้นก็จะคายออกมาเป็นพลังงานในรูปของรังสีคลื่นยาวอินฟราเรด ซึ่งเป็นคลื่นความร้อน กลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและบางส่วนก็ถูกกักเก็บไว้โดยก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก ดังนั้นที่ผ่านมาโลกของเราจึงสามารถรักษาอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสม ไม่ร้อนจัดเหมือนดาวศุกร์ หรือเย็นจัดอย่างดาวอังคาร แต่ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกไม่ได้อยู่ในภาวะปรกติอีกต่อไป ชั้นบรรยากาศถือได้ว่าเป็นส่วนที่อ่อนไหวที่สุดในระบบนิเวศของโลกใบนี้ คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากคุณเอาน้ำยาขัดเงามาทาลูกโลก ความหนาของชั้นน้ำยาก็เปรียบได้กับชั้นบรรยากาศเมื่อเทียบกับขนาดของโลก” ทุกวันนี้ชั้นบรรยากาศของโลกถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ก๊าซเรือนกระจกนั้นประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก รวมถึงก๊าซมีเทน ก๊าซซีเอฟซี ก๊าซโอโซน ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีในการดูดกลืนและเก็บกักรังสีอินฟราเรด ดังนั้นรังสีอินฟราเรดที่ควรจะสะท้อนออกนอกโลก ก็จะถูกเก็บกักสะสมไว้ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเราว่า “ปัญหาเรื่องภาวะเรือนกระจกก็คือ ก๊าซเรือนกระจกมันไม่ได้หนาขึ้น แต่มันเข้มข้นมากขึ้น สาเหตุหลักคือธาตุคาร์บอนที่เคยสะสมอยู่ในรูปของน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งควรจะอยู่ในที่ของมันในแผ่นดิน แต่เราเอามาเผาเพื่อนำพลังงานมาใช้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตามธรรมชาติถ้าเราให้เวลามันนานเพียงพอ กระบวนการตามธรรมชาติในโลกจะค่อยๆ ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับออกไป แต่ตอนนี้เราขุดคาร์บอนขึ้นมาเผาวันละ ๘๐ ล้านบาร์เรล มันเร็วเกินกว่าที่กระบวนการตามธรรมชาติจะกำจัดออกไปได้ มันก็สะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้นจนทำให้ภาวะเรือนกระจกในปัจจุบันมีความรุนแรงมากเกินกว่าสภาพตามธรรมชาติ”
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ / ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น